ผักตบชวา ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2444 ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยนำเข้ามาจากเกาะชวาในฐานะเป็นไม้ประดับสวยงาม โดยขณะเสด็จประพาสประเทศอินโดนีเซีย พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เมื่อปี พ.ศ. 2439 สมเด็จพระนางเจ้าฯ ได้ทอดพระเนตรเห็นนางกำนัล ตลอดจนเจ้านายฝ่ายในของสุลต่าลเกาะชวาได้ใช้ดอกของพืชชนิดนี้ทัดหู มีความสวยงามของสีม่วงอมฟ้าพร้อมกับมีดอกที่ใหญ่ จึงได้มีรับสั่งให้เก็บผักตบชวาจำนวน 3 เข่ง เพื่อนำมาปลูกไว้ในประเทศไทย พร้อมกับนำน้ำจากพื้นถิ่นกลับมาด้วยจำนวน 10 ปี๊บ เพื่อไม่ให้ผักตบชวาผิดน้ำ โดยขณะนั้นผักตบชวาก็เพิ่งถูกนำเข้าไปในเกาะชวาจากเจ้าอาณานิคมฮอลันดา โดยแรกเริ่มใส่อ่างดินเลี้ยงไว้หน้าสนามวังสระปทุม ผักตบชวาก็เจริญเติบโตงอกงามอย่างมากมาย ถึงแม้จะเปลี่ยนน้ำแล้วก็เติบโตได้ดีจนออกดอกเพียงระยะเวลาแค่ 1 เดือน และได้ทรงพระราชทานหน่อให้เจ้านายพระองค์อื่นและบรรดาข้าราชบริพารนำไปปลูกด้วย เพียงแค่ 6 เดือน ผักตบชวาก็แพร่กระจายพันธุ์จนเต็มวังสระปทุม ต้องนำไปปล่อยทิ้งไว้ที่คลองสามเสนหลังวัง พร้อมกับคลองอื่น ๆ เช่น คลองเปรมประชากร, คลองผดุงกรุงเกษม ในระยะแรกประชาชนชาวไทยก็ได้ใช้ดอกของผักตบชวามาทัดหูเพื่อความสวยงามบ้าง แต่หลังจากนั้นไม่นานก็เสื่อมความนิยมลง เหตุเพราะการแพร่กระจายพันธุ์อย่างรวดเร็วนั่นเอง
สรรพคุณของผักตบชวา
- ต้นมีรสจืด มีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษในร่างกาย ช่วยขับลม ใช้ตำพอกแก้แผลอักเสบ
- ช่วยระบายความร้อนในร่างกาย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
ประโยชน์ของผักตบชวา
- ยอดอ่อน ใบอ่อน และดอกอ่อน สามารถนำมาลวกจิ้มกับน้ำพริกรับประทาน หรือนำมาทำแกงส้ม ในไต้หวันจะนำผักชนิดนี้มาปรุงเป็นอาหารจำพวกผัก (เฉพาะผักตบชวาที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างบริสุทธิ์) โดยคุณค่าทางโภชนาการของส่วนที่รับประทานได้ของผักตบชวา ต่อ 100 กรัม จะประกอบไปด้วย พลังงาน 30 แคลอรี, น้ำ 89.8%, โปรตีน 0.5 กรัม, ไขมัน 0.1 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 7.5 กรัม, ใยอาหาร 2.4 กรัม
- ผักตบชวาสามารถนำมาเลี้ยงสุกร เลี้ยงไก่ได้ เนื่องจากมีคุณค่าทางอาหาร โดยพบว่าผักตบชวาแห้งจะมีโปรตีนประมาณ 14-20% ไขมัน 1-2.5% เส้นใย 17-19% ซึ่งโดยปกติแล้วสัตว์หลายชนิดก็กินผักตบชวาอยู่แล้ว กล่าวคือ วัว ควาย แกะ แพะ มักจะกินผักตบชวาที่ขึ้นอยู่ตามริมฝั่ง หรือบางชนิดก็กินผักตบชวาในน้ำ ส่วนหมูก็กินผักตบชวาที่ผู้เลี้ยงนำมาต้มให้กิน โดยสัตว์เหล่านี้ก็จะช่วยกำจัดผักตบชวาให้ลดน้อยลงได้บ้าง และเรายังได้ประโยชน์จากสัตว์เลี้ยงเหล่านี้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการนำผักตบชวาไปแปรรูปใช้เป็นส่วนประกอบของสูตรอาหารสุกรและสัตว์ปีก[1],[2],[6]แต่มีข้อควรระวังในการเลือกใช้คือ ให้เลือกผักตบชวาจากแหล่งน้ำที่ปลอดสารพิษจำพวกยาฆ่าแมลงหรือโลหะหนักเท่านั้น เพราะสารเหล่านี้จะถูกผักตบชวาดูดซับเอาไว้ และเมื่อนำไปให้สัตว์กิน ก็จะทำให้สัตว์ได้รับสารพิษเหล่านี้ไปด้วย
- มีการนำผักตบชวาแห้งทั้งต้นมาใช้ทำเป็นแอลกอฮอล์และ gas แต่ผลที่ได้ยังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจมากนัก
- ผักตบชวาสามารถนำมาใช้ทำปุ๋ยหมัก สำหรับการปลูกพืชผักต่าง ๆ เนื่องจากผักตบชวามีโพแทสเซียมอยู่มากเป็นพิเศษ ส่วนฟอสฟอรัสและไนโตรเจนก็มีอยู่พอสมควร หรือนำมาใช้คลุมต้นไม้ที่ปลูกเอาไว้ให้เกิดความชุ่มชื้น เนื่องจากผักชนิดนี้มีคุณสมบัติในการอุ้มน้ำได้ดี
- ผักตบชวาที่ตากแดดจนแห้งดีแล้ว สามารถนำมาเพาะเห็ดฟางเพื่อสร้างรายได้ได้เป็นอย่างดี
- ใช้ทำเป็นกระถางชนิดพิเศษที่เป็นปุ๋ยในตัวเอง โดยต้นกล้าที่จะนำมาเพาะชำในกระถางนี้ เราสามารถขุดหลุมปลูกได้เลย เพราะกระถางจะย่อยสลายไปได้เองและยังเป็นปุ๋ยให้กับพืชที่ปลูกอีกด้วย
- นำมาใช้ทำเป็นเชื้อเพลิงแท่งโดยการนำมาผสมกับแกลบอัดเป็นแท่งเชื้อเพลิงได้ โดยไม่มีปัญหาในการอัด ค่าพลังงานความร้อนที่ได้ก็ใกล้เคียงกับแกลบอัด
- ผักตบชวาสามารถขึ้นได้ในทุกสภาพน้ำและสามารถช่วยบำบัดน้ำเสียได้โดยตรง โดยทำหน้าที่เป็นตัวกรอง ทำให้ของแข็งหรือสารแขวนลอยต่าง ๆ ที่ปนอยู่ในน้ำถูกสกัดกั้นเอาไว้ นอกจากนั้นระบบรากของผักตบชวาที่มีจำนวนมาก ยังช่วยกรองสารอินทรีย์ที่ละเอียดและจุลินทรีย์ที่อาศัยเกาะอยู่ที่ราก จึงช่วยดูดสารเหล่านี้ไว้ด้วยอีกทางหนึ่ง แต่ถ้าน้ำเสียนั้นมีสารพิษในปริมาณมากหรือน้ำเสียมาก การใช้ผักตบชวาเพื่อบำบัดน้ำเสียจะให้ผลช้าและอาจทำให้น้ำเน่าได้ จึงควรใช้ผักตบชวาร่วมกับการบำบัดน้ำเสียระบบอื่นไปด้วย จึงจะได้ผลดี
- ผักตบชวาสามารถนำมาแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์จักสานหรือสินค้าอื่น ๆ ผลิตภัณฑ์จากผักตบชวาก็เช่นกล่อง กล่องใส่กระดาษทิชชู ตะกร้าผักตบชวา กระเป๋าผักตบชวา เก้าอี้ผักตบชวา เปลญวน รองเท้าแตะหรือรองเท้าผักตบชวา ถาดรองผลไม้ ถาดรองแก้วน้ำ แจกันสาน เสื่อผักตบชวา กระดาษจากผักตบชวา ฯลฯ
- นอกจากนี้ผักตบชวายังมีประโยชน์ที่ช่วยทำให้น้ำสะอาดขึ้น ช่วยสะสมพลังงานจากดวงอาทิตย์ ทำให้อากาศบริสุทธิ์และเย็นสบาย ช่วยลดปัญหาที่เกิดจากวัชพืชใต้น้ำ เป็นที่อยู่อาศัยของปลาและสัตว์น้ำ ช่วยทำให้เกิดทัศนียภาพที่เจริญตา (สำหรับบางคน) ฯลฯ
ผลเสียทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนี้
1. ด้านการชลประทาน ผักตบชวาทำให้การพัฒนาแหล่งน้ำไม่ได้ผลตามเป้าหมาย เนื่องจากทำให้อัตราการไหลของน้ำลดลงประมาณ 40% ขัดขวางการระบายน้ำของประตูน้ำ ทำให้เกิดการตื้นเขินของแหล่งน้ำต้องขุดลอกบ่อย และประการสำคัญคือ ผักตบชวาทำให้การระเหยน้ำเพิ่มขึ้นมากกว่าพื้นที่ที่ไม่มีผักตบชวาปกคลุมถึง 3 - 5 เท่า ในพื้นที่ 1 ตารางเมตร ผักตบชวาสามารถระเหยน้ำได้สูงถึง 0.35 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ถ้าคิดเป็นพื้นที่ทั่วประเทศ จะสูญเสียประมาณละ 16,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
2. ด้านการผลิตไฟฟ้า ผักตบชวาจะลดอายุการใช้งานของเขื่อน เนื่องจากการตกตะกอนทำให้ตื้นเขิน นอกจากนี้ยังทำให้ปริมาณน้ำลดลง เนื่องจากการระเหยน้ำของผักตบชวามากกว่าปกติสูงถึง 3 - 5 เท่า ดังกล่าวมาแล้ว
การป้องกันการแพร่ระบาดของผักตบชวา
- หมั่นขุดลอกคูคลองหรือท้องร่องให้น้ำไหลผ่านได้สะดวก เนื่องจากผักตบชวาจะเจริญเติบโตได้ยากที่ที่มีน้ำไหลแรง
- หมั่นตรวจดูแลแหล่งน้ำบริเวณใกล้บ้านอยู่เสมอ หากพบเห็นก็ให้ดึงขึ้นจากน้ำและทำลายเสีย โดยการนำมาตากแห้งหรือเผาทำลาย
- หากพบเห็นผู้ใดปลูกหรือกักผักตบชวาเอาไว้ใช้ประโยชน์ ก็ควรให้คำแนะนำให้รู้ถึงโทษของผักตบชวา และวิธีการป้องกันการแพร่ระบาด
- หากพบว่ามีแหล่งเพาะขยายพันธุ์เกิดขึ้นและเกินกำลังที่จะกำจัดได้เอง ก็ให้แจ้งผู้นำชุมชนและช่วยกันกำจัดให้หมดสิ้น
#ผักตบชวา
No comments:
Post a Comment