G-Upcycle ผลิตภัณฑ์สีเขียว



G-Upcycle ตราสัญลักษณ์ใหม่การันตีผลิตภัณฑ์สีเขียว
เรื่อง : สุวิทย์ วงศ์รุจิราวาณิชย์

หลายท่านอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า Recycle อันหมายถึง การนำผลิตภัณฑ์ที่เราไม่สามารถใช้ซ้ำได้แล้ว
กลับเข้าสู่กระบวนการแปรรูปให้เป็นวัตถุดิบอีกครั้ง จากนั้นนำวัตถุดิบที่ได้กลับมาผลิตเป็นสินค้าตัวใหม่ เช่น การนำขวดน้ำพลาสติก (ขวดชาเขียว ขวดน้ำดื่ม ฯลฯ) มาผ่านกระบวนการย่อยสลายจากนั้นนำไปเป็นวัตุดิบตั้งต้นตัวใหม่ บางรายอาจนำไปทอเป็นเส้นใยปั่นคู่กับเส้นใยฝ้ายผลิตเป็นกางเกงยีนส์เนื้อดี บางรายอาจนำ
ไปเป็นวัสดุตั้งต้นสำหรับผลิตสินค้าพลาสติกที่อาจมีคุณสมบัติด้อยกว่าเดิม เช่น นำไปผลิตเป็นถังน้ำพลาสติก ถังขยะ เป็นต้น แม้ว่ากระบวนการ Recycle จะเป็นอีกหนึ่งหนทางในการลดปริมาณการใช้ทรัพยากร แต่กระบวนการแปรรูป Recycle ยังคงหลีกเลี่ยงการใช้พลังงานเชื้อเพลิง เช่น น้ำมัน ไฟฟ้า ฯลฯ ไม่ได้อยู่ดี

ส่วนอีกหนึ่งคำที่เราเริ่มคุ้นหูกันมากขึ้น ก็คือว่า Upcycle หลายท่านอาจเริ่มสงสัยว่า Upcycle คำนี้แตกต่างจากรีไซเคิลอย่างไร แล้วทำไมหลายองค์กรถึงให้ความสำคัญกับกระบวนการ Upcycle มากขึ้น คำตอบคือ กระบวนการ Upcycle เป็นแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเศษวัสดุเหลือใช้ที่กำลังจะกลายเป็นขยะให้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง กระบวนการแปรรูปอาจไม่จำเป็นต้องนำไปหลอมเหมือนกระบวนการ Recycle แต่อาจเป็นการดัดแปลงวัสดุที่หลงเหลือจากกระบวนการผลิตให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพและมีมูลค่าที่สูงขึ้น วันนี้ผมมีโอกาสเก็บภาพผลิตภัณฑ์ชั้นเยี่ยมที่ผ่านกระบวนการ Upcycle มาให้ดูเป็นตัวอย่างนะครับ เผื่อช่วยกระตุ้นต่อมไอเดียเก็บเศษวัสดุจากโรงงานของท่านมาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ดีๆ

Java Stool - เก้าอี้สตูตัวเล็กที่ผลิตจากกากกาแฟที่เหลือจากการชงกาแฟแก้วโปรดผสมกับเศษพลาสติกอะคริลิค

Three Little Pigs - กระเป๋าใส่ของที่ผลิตจากถุงใส่น้ำยาล้างไต


Spotti - โต๊ะวงกลม นำเศษท่อนไม้สักไปปรับรูปทรงให้กลายเป็นขาโต๊ะ


Tom Bench - เก้าอี้นั่งเหล็กแบบยาว เกิดจากการนำเศษเหล็กมาดัดรูปทรงขึ้นรูปเป็นเก้าอี้ที่มีความแข็งแรง

Scapa Stool - เก้าอี้สตูที่เกิดจากการหลอมของเศษกระดุม


ผลงานทั้ง 5 ชิ้นเป็นเพียงแค่ตัวอย่างของชิ้นงาน Upcycle ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการผลิตสินค้าจากเศษวัสดุที่เหลือใช้จากโรงงานก่อนทิ้งลงถังขยะ นอกจากนี้ทางกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้พัฒนาตราสัญลักษณ์ G-Upcycle เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่นำวัสดุเหลือใช้มาผลิตเป็นสินค้า โดยมีที่มาจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Design, Eco-Design) ทั้งนี้ตราสัญลักษณ์ G-Upcycle ประกอบด้วยแนวคิด 2 ส่วนคือ กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Productivity) และ กระบวนการที่เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า (Upcycle) ด้วยการพัฒนาเศษวัสดุเหลือใช้ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพและมีมูลค่าที่สูงขึ้น


อีกหนึ่งแนวคิดดีๆ ในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการผลิตชิ้นงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่มีคุณค่าทั้งในงานออกแบบและเชิงพาณิชย์ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกับตลาดยุโรปที่ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ท่านสามารถศึกษาข้อมูลเรื่องตราสัญลักษณ์
G-Upcycle
เพิ่มเติมได้ที่ www.deqp.go.th

เชิญคลิก Like เพื่อต่อตามบทความงานออกแบบสร้างสรรค์เพิ่มเติมได้ที่www.facebook.com/SuwitBrand

บทความ Sustainable Design กายใจ : กรุงเทพธุรกิจ 31.5.58

No comments:

Post a Comment