ปลานกแก้ว ผู้ช่วยธรรมชาติ
ทำไมเราต้องอนุรักษ์ปลานกแก้ว (และปลาอื่นๆในเขตอนุรักษ์)
งานวิจัยระยะยาวโดยดร.ปีเตอร์ มัมบี้ แห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์และคณะที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Conservation Letter (2013) พบว่า แนวปะการังในเขตที่ไม่มีการจับปลา (No-take areas) โดยเฉพาะแนวที่ยังมีประชากรปลานกแก้วอุดมสมบูรณ์สามารถ ฟื้นตัวจากปรากฎการณ์ฟอกขาวได้เร็วกว่าแนวปะการังอื่นนอกเขตอนุรักษ์ถึง 6 เท่า
งานวิจัยชื้นนี้ใช้ข้อมูลสถานภาพแนวปะการังและประชากรปลาในเขตอนุรักษ์และนอกเขตอนุรักษ์ ที่ประเทศเบลิซ ในอเมริกากลาง แล้วนำมาทำโมเดลพยากรณ์การฟื้นตัวของปะการังในระยะยาว
ผลปรากฎว่า แนวปะการังนอกเขตอนุรักษ์ที่มีกิจกรรมประมงมีโอกาสฟื้นตัวภายในปี 2030 เพียง 12% เท่านั้น ในขณะที่ภายในเขตอนุรักษ์ที่ยังมีประชากรปลานกแก้วมีโอกาสฟื้นตัวสูงถึง 79% หรือสูงกว่า 6 เท่า ในกรณีที่ปะการังไม่ฟื้นตัวนานๆ ก็มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่แนวปะการังบริเวณนั้นจะเสื่อมโทรมและอาจเปลี่ยนผ่านกลายเป็นระบบนิเวศที่มีสาหร่ายขึ้นคลุมแทนที่
ปลานกแก้วเป็นกลุ่มปลากินพืชที่หากินโดยการครูดกินตามพื้นผิว (grazer) โดยเฉพาะสาหร่ายที่มักจะขึ้นคลุมแนวปะการังหลังปะการังตายลงเนื่องจากเหตุการณ์ปะการังฟอกขาวหรือภัยคุกคามอื่นๆ ปลานกแก้วทำหน้าที่สำคัญในการป้องกันไม่ให้พื้นผิวบริเวณแนวปะการังเปลี่ยนสภาพและถูกขึ้นคลุมด้วยสาหร่าย ตัวอ่อนปะการังจึงสามารถลงเกาะและเติบโตขึ้นใหม่ได้ แนวปะการังที่มีปลานกแก้วชุกชุมจึงมีโอกาสฟื้นตัวได้ดีกว่าและเร็วกว่าแนวปะการังที่ปล่อยให้มีประมงเกิดขึ้น
เขตอนุรักษ์ที่มีการควบคุมกิจกรรมประมงอย่างจริงจัง จึงเป็นความหวังสำคัญในการฟื้นฟูปะการังตามธรรมชาติ โดยเฉพาะในภาวะที่ระบบนิเวศที่เปราะบางประเภทนี้ต้องเผชิญกับภาวะโลกร้อนและปรากฎการณ์ฟอกขาวกลายเป็นภัยคุกคามที่เกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงกว่าในอดีตอย่างมาก
ปลานกแก้วนอกจากจะเป็นสีสันของแนวปะการังแล้วยังเป็นกลุ่มปลาที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นตัวของแนว
ปะการัง เราช่วยฟื้นฟูปะการังแหล่งอนุบาลตัวอ่อนสัตว์น้ำและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญได้ง่ายๆด้วยการไม่จับและไม่บริโภคปลานกแก้ว
น่าเสียดายที่ปัจจุบันปลานกแก้ว เริ่มกลายเป็นปลาที่มีผู้นิยมนำมาบริโภคมากขึ้น ซึ่งส่วนมากถูกจับมาจากแนวปะการังนั่นเอง แม้แต่ในเขตอุทยานแห่งชาติ หรือตามแนวปะการังส่วนใหญ่ซึ่งมีกฎหมายให้ความคุ้มครองจากกิจกรรมประมงก็ยังคงมีการลักลอบจับปลาอยู่เป็นประจำ
หากปลานกแก้วยังคงถูกจับมาขายมากมายเช่นนี้ น่าเป็นห่วงเหลือเกินว่าระบบนิเวศปะการังอาจสูญเสียสมดุลและขาด
ผู้ช่วยสำคัญในการฟื้นฟูปะการัง และเมื่อถึงเวลานั้นแม้จะมีเงินทุน งบประมาณมากมายขนาดไหน มนุษย์ก็อาจจะพบว่าเราไม่สามารถสร้างแนวปะการังตามธรรมชาติขึ้นเองได้
ภาพ: ปลานกแก้วที่เริ่มพบมีจำหน่ายตามตลาดปลาในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ
อ้างอิงจากงานวิจัย: P. J. Mumby et al. 2013. "Operationalizing the resilience of coral reefs in an era of climate change." Conservation Letters. doi: 10.1111/conl.12047
https://www.facebook.com/sunshine.sketcher/photos/a.121194994596727.13457.119055914810635/639573899425498/?l=872f02aa2a
Read more >>