การทำเชื้อเพลิงอัดแท่งจากวัสดุเหลือใช้
ภายใต้สถานการณ์วิกฤติพลังงานที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ไม่เพียงแต่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเท่านั้น สินค้าอุปโภคบริโภคก็มีราคาแพงขึ้น ค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะแนวทางการปรับราคาก๊าซแอลพีจีหรือก๊าซหุงต้มขึ้นอีก กำลังเป็นที่กังวลและสร้างความเดือนร้อนให้กับพ่อค้า แม่ค้า รวมถึงประชาชนทั่วไป ที่จำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงในการหุงหาอาหารในชีวิตประจำวัน
การคิดค้นวิจัยและทดลองเพื่อการเสาะหาเชื้อเพลิงอื่นมาทดแทนน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ปัจจัยสำคัญคือ เชื้อเพลิงประเภทนั้นต้องราคาถูก มีปริมาณเพียงพอ และจัดหาได้ง่าย และกรรมวิธีในการนำมาใช้ประโยชน์นั้นจะต้องไม่ยุ่งยากซับซ้อน “เชื้อเพลิงเขียวอัดแท่ง”จึงเป็นคำตอบของประเภทพลังงานทดแทนใหม่นี้
จากการศึกษาวิจัยของกลุ่มชีวมวล สำนักวิจัยค้นคว้าพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) พบว่า เชื้อเพลิงเขียวอัดแท่งนั้นให้ความร้อนสูงถึง 700องศาเซลเซียส และหากเผาเป็นถ่านก่อนนำไปใช้งานแล้วพบว่า มีควันน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงในการประกอบอาหารได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับถ่านไม้ที่นิยมใช้กันทั่วไป
เชื้อเพลิงเขียวอัดแท่งสามารถทดแทนก๊าซหุงต้มได้เป็นอย่างดี มีขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยาก ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถศึกษาและลงมือทำใช้เองได้อย่างง่ายดาย ประกอบกับวัตถุดิบที่ใช้ผลิตก็สามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่นทั่วทุกพื้นที่ วัตถุดิบดังกล่าว ได้แก่ ขี้เลื่อย แกลบ ฟาง กิ่งไม้ ใบไม้ ผักตบชวา ฯลฯ
ขั้นตอนแรกคือ การเตรียมวัตถุดิบหรือวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เช่น ขี้เลื่อย แกลบ ฟาง กิ่งไม้ ใบไม้ ผักตบชวา ฯลฯ จากนั้น นำมาลดขนาดด้วยเครื่องบดให้ได้ขนาดสม่ำเสมอกัน หลังจากนั้นก็ใช้กาว
เป็นตัวประสานให้เชื้อเพลิงยึดติดกันแน่นในอัตราส่วน 30ต่อ 1(เชื้อเพลิง 30 ส่วน กาว 1 ส่วน) หรือ อาจใช้แป้งเปียกแทนเพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายก็ได้เช่นกัน ขั้นตอนต่อไปก็นำเชื้อเพลิงและกาวมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน หากวัสดุที่นำมาใช้ทำเชื้อเพลิงแห้งเกินไป ให้ใช้พรมน้ำเป็นระยะเพื่อให้กาวแทรกตัวได้ดียิ่งขึ้น
นำเชื้อเพลิงที่ผสมกาวแล้วเข้าเครื่องอัดแท่ง เพื่อให้เชื้อเพลิงมีลักษณะตามที่ต้องการ โดยอัดให้เป็นแท่งยาวประมาณ 50เซนติเมตร ที่สำคัญเมื่ออัดเชื้อเพลิงเป็นแท่งเรียบร้อยแล้ว ในระหว่างการเคลื่อนย้ายออกจากเครื่องต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากกาวอาจยังไม่แห้งดี แท่งเชื้อเพลิงอาจแตกเสียหายได้ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ควรใช้เหล็กฉากช่วยประคองในระหว่างการเคลื่อนย้ายน่าจะเป็นวิธีที่ดี
จากนั้น นำแท่งเชื้อเพลิงมาตากให้แห้ง ควรตากแดดทิ้งไว้ประมาณ 7วัน หรือหากจำเป็นต้องตากในที่ร่ม ให้ตากทิ้งไว้ประมาณ 10 วัน ที่สำคัญต้องระวังอย่าให้ถูกฝน เมื่อแท่งเชื้อเพลิงแห้งสนิทดีแล้ว ให้นำมาตัดเป็นท่อนยาวประมาณ 10เซนติเมตร เพื่อสะดวกในการเก็บรักษาและการใช้งาน เพียงเท่านี้กระบวนการผลิตเชื้อเพลิงเขียวอัดแท่งก็เป็นอันเสร็จสมบูรณ์
นอกจากการนำวัสดุเหลือใช้จากท้องถิ่นนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงเขียวอัดแท่ง เพื่อใช้ในครัวเรือนแล้ว ยังมีเศษวัสดุเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรมอีกจำนวนมากที่ถูกทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นเปลือกเมล็ดทานตะวัน กากเมล็ดกาแฟ เปลือกผลไม้ ฯลฯ ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีทั้งสิ้น หากมีการผลิตเชื้อเพลิงเขียวอัดแท่งใช้เองอย่างแพร่หลายแล้ว ก็คงไม่ต้องกังวลกับการปรับตัวสูงขึ้นของราคาเชื้อเพลิงอื่นๆ อีกต่อไป
เป็นการช่วยลดขยะอีกทางหนึ่ง สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงแบบสะอาดใช้งาน ราคาแก๊สมีราคาแพงขึ้นทุกวัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : นิตยสารรักษ์พลังงาน ฉบับที่ 50 เดือนกรกฎาคม 2551
ที่มาข้อมูล villagefund.or.th
ที่มารูปภาพ asiabiomass.com
No comments:
Post a Comment