อย่าให้ "อาหาร" กลายเป็นขยะ กินอย่างรู้คุณค่า
เป็นความจริงที่ว่า อาหารที่ถูกผลิตขึ้นสำหรับการบริโภคของมนุษย์ ประมาณ 1 ใน 3 หรือ 1.3 พันล้านตัน ถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะ
สถานการณ์การทิ้งอาหาร
ในแต่ละปีประเทศอุตสาหกรรมทิ้งขวางอาหารกว่า 670 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 680 พันล้านเหรียญ ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาทิ้งราว 630 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 310 พันล้านเหรียญสหรัฐ
อาหารที่ถูกทิ้ง พบว่า 30 เปอร์เซ็นต์เป็นพวกเมล็ดธัญพืช, 40 –50 เปอร์เซ็นต์เป็นผักและผลไม้, และอีก 20 –30 เปอร์เซ็นต์เป็นอาหารจำพวกเมล็ดน้ำมัน เนื้อ ผลิตภัณฑ์จากนม และปลา เป็นต้น
ทั้งนี้ ทุกๆ ปี ผู้คนในประเทศร่ำรวยจะทิ้งอาหารประมาณ 222 ล้านตัน ซึ่งพอๆ กับปริมาณอาหารที่ประเทศในแถบทะเลทรายซาฮาราผลิต คือประมาณ 230 ล้านตัน
มีอันจะกินกว่า ก็ทิ้งมากกว่า
มีการผลิตอาหารเพื่อบริโภคให้กับกลุ่มประเทศร่ำรวยอย่างยุโรปและอเมริกาเหนือ 900 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ขณะที่มีปริมาณการทิ้งขยะอาหารสูงถึง 95 –115 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ส่วนการผลิตอาหารเพื่อบริโภคให้กับกลุ่มประเทศยากจนและประเทศกำลังพัฒนามีจำนวนน้อยกว่ากันกว่าครึ่ง คือ 460 กิโลกรัมต่อคนต่อปี แต่ปริมาณการทิ้งอาหารอยู่ที่ 6 –11 กิโลกรัมต่อปี
ทั้งนี้ อาหารที่ถูกทิ้งในละตินอเมริกาสามารถเลี้ยงปากท้องคนได้ 300 ล้านชีวิต อาหารที่ถูกทิ้งในยุโรปสามารถเลี้ยงปากท้องคนได้ 200 ล้านชีวิต และอาหารที่ถูกทิ้งในแอฟริกาสามารถเลี้ยงปากท้องคนได้ 300 ล้านชีวิต ซึ่งในปัจจุบันหากเราลดการสูญเสียอาหารลงได้แค่ 1 ใน 4 ก็เพียงพอที่จะเลี้ยงประชากรที่หิวโหยของทั้งโลกจำนวน 870 ล้านคนได้
ไม่เพียงแค่นั้น การโยนทิ้งอาหารไม่ได้หมายถึงการเสียเปล่าอาหาร แต่ยังหมายถึงการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย ทั้งน้ำ ที่ดิน พลังงาน แรงงาน และทุน แถมในกระบวนการผลิตและขนส่งยังปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมหาศาลซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้โลกร้อนขึ้น
แก้ให้ตรงจุด
พบว่า ในประเทศกำลังพัฒนา การสูญเสียอาหารกว่า 40 เปอร์เซ็นต์เกิดขึ้นในช่วงแรกของห่วงโซ่อุปทานคือในช่วงหลักการเก็บเกี่ยวและขั้นตอนการผลิต ซึ่งสามารถสอบทวนได้ว่าปัญหาเกิดจากอะไร ว่าเป็นปัญหาการจัดการหรือปัญหาเทคนิค การแก้ปัญหาด้วยการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง หรือแม้แต่เรื่องบรรจุภัณฑ์ ก็จะมีส่วนช่วยลดการสูญเสียอาหารลงได้
ขณะที่ในประเทศร่ำรวยและประเทศที่มีรายได้ระดับกลาง การสูญเสียอาหารกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ เกิดขึ้นในขั้นท้ายๆ ของห่วงโซ่อุปทาน คือในช่วงของการค้าปลีกและการบริโภค โดยในขั้นของการค้าปลีกนั้น พบว่าอาหารจำนวนมากถูกทิ้งเนื่องจากขนาด สีสัน หรือรูปลักษณ์ภายนอกไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้นการสร้างความตระหนักถึงปัญหาให้กับภาคอุตสาหกรรมอาหาร ผู้ค้าปลีก และผู้บริโภค รวมถึงการหาหนทางใช้ประโยชน์จากอาหารที่ถูกคัดทิ้ง ก็จะช่วยลดปริมาณอาหารที่จะกลายเป็นขยะได้เช่นกัน
ที่มา
Global Food Losses and Food Waste - FAO, 2011
The environmental crisis: The environment’s role in averting future food crisis – UNEP, 2009
http://www.greenworld.or.th/greenworld/foreign/2223
กินอาหารอย่างรู้คุณค่า